สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดิน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดิน พ.ศ. .... มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดินได้รับความคุ้มครองและได้รับความช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมาย จากกรณีประกาศเขตพื้นที่ของรัฐทับที่ทำกินของประชาชน ทั้งที่ประชาชนอยู่มาก่อน ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นกลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้งการประกาศเขตที่ดินของรัฐที่มีจำนวนเนื้อที่มากไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้การอยู่อาศัยและการทำกินในพื้นที่อยู่เดิมของประชาชนผู้ยากไร้กลายเป็นการอยู่อาศัยและการทำกินในที่ดินของรัฐ อันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดิน พ.ศ. .... มีดังนี้

     (1) กำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าหรือที่ดินของรัฐ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ มีสิทธิได้รับการยกเว้นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 3)

     (2) กำหนดบรรดาคดีความผิดทั้งหลายของบุคคลตามมาตรา 3 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับไม่เป็นความผิดต่อไป และให้บุคคลผู้ได้กระทำการนั้น พ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะได้กระทำ ในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ (ร่างมาตรา 4)

     (3) กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิจารณายกเว้นความผิดประจำจังหวัด” และ “คณะกรรมการ วินิจฉัยชี้ขาด” โดยกำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

     (4) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการยื่นคำขอยกเว้นความผิดสำหรับบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดิน รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดแห่งท้องที่ เรือนจำแห่งท้องที่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดแห่งท้องที่ มีหน้าที่ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบกลั่นกรอง และเสนอรายชื่อบุคคลที่พ้นโทษไปแล้วหรือถูกคุมขังหรือถูกคุมประพฤติต่อคณะกรรมการพิจารณายกเว้นความผิดประจำจังหวัดเพื่อพิจารณายกเว้นความผิดให้กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว (ร่างมาตรา 7)

     (5) กำหนดหน้าที่ให้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้กระทำความผิด ตั้งแต่ขั้นตอนคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน การยื่นฟ้องคดี การพิจารณาคดี การรับโทษการคุมประพฤติหรือการพักโทษ แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 8)

     (6) กำหนดให้การยกเว้นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับโทษ ในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ไม่หมายความรวมถึงสิทธิหรือประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะพึงได้รับอันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นความผิด หรือการกระทำของหน่วยงานของรัฐหรือการดำเนินการในภายหลังการยกเว้นความผิด และมิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลที่ได้รับการยกเว้นความผิดกรณีที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ก่อนวันที่ประกาศเป็นที่ดินของรัฐ ที่รัฐจะต้องคืนสิทธิที่ได้รับการยกเว้นในการครอบครองให้กับบุคคลดังกล่าว (ร่างมาตรา 9)

     (7) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 10)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 กระทรวงยุติธรรม

     1.2 กรมที่ดิน

     1.3 กรมป่าไม้

     1.4 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

     1.5 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 กระทรวงมหาดไทย

     2.2 สำนักงานอัยการสูงสุด

     2.3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     2.4 สำนักงานศาลยุติธรรม

     2.5 สำนักงานศาลปกครอง

     2.6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม     

     2.7 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     2.8 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

     2.9 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

     2.10 สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย

     2.11 องค์กรภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีประสบการณ์ในการทำงานแก้ไขปัญหาด้านสิทธิในที่ดิน อาทิ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค
เป็นต้น

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเว้นความผิด การให้พ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ แก่บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดและอยู่อาศัยหรือทำกินในเขตป่าไม้ถาวร เขตสวนป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ซึ่งได้กระทำการอันเป็นความผิดว่าด้วยการบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำลายหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียสภาพป่าหรือที่ดินของรัฐ ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 จนถึงวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ (มาตรา 3 และมาตรา 4)

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการให้มีคณะกรรมการพิจารณายกเว้นความผิดประจำจังหวัด ทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลผู้ได้รับการยกเว้นความผิด และส่งรายชื่อต่อศาลหรืออัยการหรือตำรวจภูธรจังหวัดแห่งท้องที่ดำเนินการต่อ (มาตรา 5)

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ชาด ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ชาด ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณายกเว้นความผิดประจำจังหวัด (มาตรา 6)

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการให้หน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการเพื่อเกิดการยกเว้นความผิด พ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองโดยสิ้นเชิง เช่น ให้มีการยุติการสอบสวน มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ถอนฟ้อง มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ปล่อยตัวบุคคลให้พ้นโทษ ปล่อยตัวบุคคลให้พ้นจากการคุมประพฤติ ฯลฯ (มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9)

     5. ท่านเห็นว่าปัจจุบันการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดิน มีปัญหาหรือส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรบ้าง และร่างพระราชบัญญัตินี้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพียงใด

     6. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นๆ (ถ้ามี)