FONTSIZE
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นร่าง พ.ร.บ.เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 28 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2566

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 09.50 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นร่าง พ.ร.บ.เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ 3 ฉบับ ดังนี้ 
1. ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พ.ศ. …. 
2. ร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ GEN-ACT 
3. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จาก คุณชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศและโฆษกพรรคสามัญชน คุณอัจฉราภรณ์ ทองแฉล้ม คุณณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และคณะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พ.ศ. …. เป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มาเป็นเวลานานและไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งเป็นการตีตราและนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้ให้บริการทางเพศทำให้ต้องประกอบอาชีพอย่างหลบซ่อน ไม่ได้รับสิทธิในการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ถูกเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สุจริต รวมทั้งมิอาจเรียกร้องสิทธิของตนจากการถูกล่วงละเมิดหรือถูกเอารัดเอาเปรียบได้ แม้ว่าจะได้ประกอบอาชีพนี้ด้วยความสมัครใจในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 4 มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 40 ประกอบกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 ข้อ 7 และข้อ 23 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 และข้อ 26 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 6 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีดังกล่าว ยังมิได้ทำให้การค้าบริการทางเพศลดลงตามที่มุ่งหมาย ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ อันไม่สอดคล้องกับหลักการมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ดังนั้น เพื่อให้การมีกฎหมายสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ประกอบกับเพื่อให้ผู้สมัครใจประกอบอาชีพในการให้บริการทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในฐานะแรงงานประเภทหนึ่ง สามารถเข้าถึงสิทธิและได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ ในสังคม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

2. ร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ GEN-ACT โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการรับรองสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลซึ่งจำแนกตามเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ส่งผลให้บุคคลซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพแตกต่างจากเพศกำเนิด หรือมีการแสดงออกทางเพศสภาพแตกต่างไปจากอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลนั้น หรือเป็นเพราะบุคคลนั้นมีเพศสรีระมากกว่าหนึ่งแบบ ได้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายจากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในพื้นที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง อาทิ การจ้างงาน การเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข การได้รับสวัสดิการสังคม การศึกษา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ตลอดจนได้รับการปฏิบัติจากบุคคลอื่นอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยขาดมาตรการทางกฎหมายในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ คุณลักษณะทางเพศ ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดสิทธิและหน้าที่ตามหลักการแสดงเจตจำนงของบุคคล (Self-Determination) สมควรให้มีกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองจากการถูกเลือกปฏิบัติ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข และผลในทางกฎหมายของการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศตามเจตจำนงของบุคคลเหล่านั้น อันเป็นการสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

3. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. …. โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้บุคคลเพศชายและเพศหญิงตามเพศกำเนิดเท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย ทำให้บุคคลที่มีรสนิยมทางเพศแตกต่างจากรสนิยมแบบรักต่างเพศ เช่น บุคคลรักเพศเดียวกัน บุคคลข้ามเพศ หรือบุคคลรักได้ทั้งสองเพศหรือบุคคลเพศหลากหลายไม่สามารถจดทะเบียนสมรสและเป็นคู่สมรสตามกฎหมายได้ ทำให้บุคคลเหล่านั้นประสบปัญหาจากการขาดการรับรองสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากการจดทะเบียนสมรส เช่น สิทธิในการรับบุตร บุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สิน สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดกจากคู่ชีวิต จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศภาวะในการยินยอมให้บุคคลทุกเพศกำเนิด ทุกรสนิยมทางเพศ และทุกอัตลักษณ์ทางเพศ สามารถเข้าถึง และจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักความเสมอภาค กฎหมาย และหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงจำเป็นต้องตราเป็นพระราชบัญญัตินี้

โดย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวภายหลังรับร่างกฎหมายว่า ขอขอบคุณทางเครือข่ายที่ได้มาริเริ่มเสนอกฎหมายทั้ง 3 ฉบับในวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักการประชุม ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายมารอให้ข้อมูลและขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ เสร็จสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมีกฎหมายที่กำลังดำเนินการเข้าชื่อ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 
1. ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. .… 
2. ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. …. 
3. ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่เสนอโดยภาคประชาชน โดยหากร่างกฎหมายที่ยื่นในวันนี้เสร็จเรียบร้อยก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป 

นอกจากนี้ ยังสามารถยืนยันการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ทาง https://dev.parliament.go.th/einitiative/  โดยไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารแล้ว หากช่วยกันประชาสัมพันธ์ และส่งต่อข่าวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ คาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากมีวันวาเลนไทน์เป็นจุดมุ่งหมายก็คาดว่าจะสามารถทำได้สำเร็จแน่นอน ทั้งนี้ ตามที่มีการหารือเรื่องวันประชุม หากทุกอย่างลงตัวและมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเรียบร้อยจะสามารถพิจารณาวันประชุมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายของภาคประชาชนโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้สามารถนำร่างกฎหมายของภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว และไม่ต้องรอต่อการพิจารณาร่างกฎหมายของ คณะรัฐมนตรี ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ตื่นเต้นที่จะทำให้กฎหมายของภาคประชาชนเข้ามาสู่การพิจารณาของสภาได้มากขึ้น และภาคประชาชนก็จะสามารถเข้ามาชี้แจงในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วยตนเอง

download download Download all images download
ถ่ายทอดสดประชุมสภา
Flip E-book ระเบียบวาระการประชุมและเอกสารประกอบการพิจารณา
ระบบสืบค้นข้อมูลสาหรับการประชุมสภา (Android Version)
ขอเชิญสมาชิกตรวจสำเนารายงานการประชุม ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๒ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง)
ระบบฐานข้อมูลรายงานและบันทึกการประชุม
ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ
ฐานข้อมูลวิชาการและกฎหมายของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา
รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
บริการกฎหมาย
ระบบให้บริการข้อมูลทางกฎหมายแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
รัฐสภาระหว่างประเทศ
ศูนย์ประชาคมอาเซียนของรัฐสภา
หอสมุดรัฐสภา
การสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยระหว่างประเทศ
ระบบสมุดโทรศัพท์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร	สำหรับ iOS และ Android
สำนักงบประมาณของรัฐสภา
ทำเนียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2562 (E-Book)
คลิกดูข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานตัว
กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ระบบบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
บริการสอบถามข้อมูล CALL CENTER 1743


 วีดิทัศน์


  • ประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ๒๕๖๔    download_icon

  • ๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา    download_icon

  • เล่าเรื่องในหลวง ร.๙ ภายใน ๒ นาที    download_icon

  • วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า    download_icon

  • สารานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ    download_icon

 แสดงทั้งหมด...



สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
Share

View My Stats